ข้อมูลวิชาการ

เกษตรอินทรีย์


              เกษตรอินทรีย์ (organic farming) เป็นเกษตรกรรมแบบหนึ่งซึ่งอาศัยเทคนิคอย่างการปลูกพืชหมุนเวียน ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก และการควบคุมสัตว์รังควานทางชีวภาพ เกษตรอินทรีย์ใช้ปุ๋ยและสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ (มีสารฆ่าวัชพืช ยาฆ่าแมลงและสารฆ่าเชื้อรา) หากถือว่ามาจากธรรมชาติ (เช่น กระดูกป่นจากสัตว์หรือไพรีทรินจากดอกไม้) แต่ไม่ใช้หรือจำกัดการใช้อย่างยิ่งซึ่งวิธีการต่าง ๆ (รวมปุ๋ยและสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ปิโตรเคมีสังเคราะห์ ตัวเร่งการเติบโตของพืช เช่น ฮอร์โมน การใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม กากสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ และวัสดุนาโน) โดยแสวงเป้าหมายซึ่งมีความยั่งยืน ความเปิดเผย การไม่พึ่งพา สุขภาพและความปลอดภัย
              วิธีการเกษตรอินทรีย์มีการกำกับระหว่างประเทศและหลายประเทศบังคับใช้กฎหมาย โดยยึดมาตรฐานที่สหพันธ์ขบวนการเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ (IFOAM) ตั้งขึ้นเป็นหลัก IFOAM เป็นองค์การครอบคลุมระหว่างประเทศขององค์การเกษตรอินทรีย์ที่ตั้งในปี 2515
              เกษตรอินทรีย์  ใช้หลักการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตรให้เกิดการผสมผสานเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเป็นองค์รวม มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุดหลีกเลี่ยงการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกระบบนิเวศเกษตร (ยกเว้นกรณีจำเป็น)  ใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นชีวภัณฑ์ และสารอินทรีย์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิต รวมทั้งสารอินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ปฏิเสธการใช้ปัจจัยที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์รวมทั้งพันธุ์ที่ผ่านการปรับเปลี่ยนทางพันธุกรรม (GMO=Genetic Modified Organisms)  โดยปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์  ใช้หลักการ  ดังนี้
              1. ใช้หลักและแนวคิดการเกษตรแบบองค์รวม ในระบบนิเวศเกษตรที่มี พืช สัตว์ ประมง ป่าไม้ ดิน น้ำ สังคมและเศรษฐกิจ ที่มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างมีบูรณาการโดยให้ความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีทันสมัย
              2. เน้นการผสมผสานให้เกิดความหลากหลายเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่าง พืช สัตว์ ประมง ป่าไม้ ในระบบไร่นาสวนผสมวนเกษตร และเกษตรทฤษฏีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
              3. ใช้พันธุ์ที่คัดเลือกให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นที่แตกต่างกันปฏิเสธการใช้พันธุ์ที่มีการตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO)
              4. เน้นการใช้ปัจจัยการผลิตที่เกิดจากการหมุนเวียนใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่ในฟาร์มและในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งเน้นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและลดต้นทุนการผลิต
              5. เน้นการใช้แรงงานคน สัตว์ และเครื่องทุ่นแรงขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงานรวมทั้งการใช้หลักการธรรมชาติในการจัดการศัตรูพืช การปรับปรุงดิน ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
              6. มีเป้าหมายการผลิตเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค การรักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน

ปุ๋ยอินทรีย์

           ปุ๋ยอินทรีย์ (Organic Fertilizer) หรือ ปุ๋ยหมัก (Compost) คือ ปุ๋ยที่ได้จากการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุทางชีวเคมีโดยจุลินทรีย์กลุ่มใช้ออกซิเจน (Aerobic Microorganisms) จนเป็นประโยชน์ต่อพืช
           ปุ๋ยอินทรีย์  เป็นปุ๋ยทำจากวัสดุอินทรีย์ มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตของพืช ผลิตจากวัสดุอินทรีย์ ของเสียจากโรงงาน(บางประเภท) มูลวัว มูลไก่ มูลค้างคาว ซากต้นไม้ ใบไม้ กรดอะมิโน โดโลไมท์ และแร่ธาตุต่าง ๆ นำมาบด เติมจุลินทรีย์ บ่มหมัก กลับกอง จนย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย  โดยปุ๋ยอินทรีย์   มีลักษณะทางกายภาพได้หลายแบบ เช่น ปุ๋ยเม็ด ปุ๋ยผง และปุ๋ยน้ำ แต่ที่นิยมจำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยเม็ด เนื่องจากสะดวกกับเกษตรกรในการนำไปใช้ ทั้งจากการหว่านด้วยมือ หรือใช้กับเครื่องพ่นเม็ดปุ๋ย

ข้อเด่น
           ปุ๋ยอินทรีย์ที่เหนือกว่าปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยอินทรีย์มีอินทรีย์วัตถุ มีธาตุอาหารรอง และจุลธาตุที่จำเป็นต่อจุลินทรีย์ดินและพืช ที่ปุ๋ยเคมีไม่มี นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ยังทำให้ดินมีสภาพเป็นกลาง ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างยาวนานจะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดซึ่งมีผลทำให้มีการละลายแร่ธาตุที่ไม่พึงประสงค์ออกมาให้แก่รากพืช เช่น อะลูมิเนียม ทำให้พืชมีลักษณะแคระแกร็นและเป็นโรคง่าย ปุ๋ยอินทรีย์ยังเพิ่มจำนวนจุลอินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ทำให้ดินมีโครงสร้างโปร่ง ร่วนซุย อ่อนนุ่มอุ้มน้ำ

ข้อด้อย
           ปุ๋ยอินทรีย์ คือ มีธาตุอาหารหลักต่ำกว่าปุ๋ยเคมี และต่ำกว่าปุ๋ยอินทรีย์เคมี ซึ่งผลิตจากการผสมปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีเข้าด้วยกัน ทำให้บางครั้งต้องใช้ในปริมาณมากเพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารเพียงพอต่อความต้องการของพืช
การตรวจสอบอุณหภูมิ/ความชื้น ในกองปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยชีวภาพ

           ปุ๋ยที่ได้จากการนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิต มีความสามารถในการสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช  มาใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน ทางชีวภาพ  ,  กายภาพ หรือชีวเคมี ยังรวมถึงหัวเชื้อจุลินทรีย์อีกด้วย   สรุป คือ  ปุ๋ยชีวภาพมีหน้าที่ปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืช ช่วยสร้างอาหารให้พืช  แต่ไม่มีธาตุอาหารในตัวมันเอง เมื่อปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืชได้ ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีจึงลดลงประหยัดมากขึ้น เพราะการปลดปล่อยของมันจะออกมาในรูปที่พืชนำไปใช้ได้นั่นคือเคมี

ชนิดของปุ๋ยชีวภาพ  มีดังนี้
           •ไรโซเบียม
           •อะโซโตแบคเตอร์
           •สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน
           •แหนแดง
           •เชื้อราไมคอร์ไรซ่า
จุลินทรีย์กำจัดศัตรูพืช

           จุลินทรีย์ ที่ใช้ป้องกันกําจัดศัตรูพืช สารชีวินทรีย์ หรือสารชีวภัณฑ์  เป็นการใช้รา แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัวไส้เดือนฝอย และแมลงศัตรูพืชธรรมชาติ เป็นสารป้องกัน ควบคุมและกําจัดโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ เพื่อลดหรือทดแทนสารเคมีป้องกนกำจัดศัตรูพืช
           ปัจจุบันมีการนำจุลินทรีย์มาใช้ในการเกษตร  โดยเฉพาะใช้ในการแปรรูปผลผลิต การผลิตอาหาร การปรับปรุงบำรุงดิน การป้องกันกำจัดโรค และศัตรูพืช และมีการพัฒนาการใช้จุลินทรีย์ในการเกษตรมากขึ้น ซึ่งแบ่งประเภทของจุลินทรีย์ได้เป็น 5 ประเภทคือ
           1. ประเภทที่ใช้ในการผลิตอาหาร เช่น เห็ดชนิดต่างๆ
           2. ประเภทที่ใช้ในการแปรรูปผลผลิต เช่น ยีส เชื้อรา ฯลฯ
           3. ประเภทที่ใช้ในการปรับปรุงดิน เช่น ไรโซเบียม ไมโครไรซ่า ฯลฯ
           4. ไวรัส
           5. แบคทีเรีย

 ข้อดี  ปลอดภัยกับเกษตรกรผู้ใช้ และผู้บริโภค ไม่มีสารตกค้าง จุลินทรีย์มีความจำเพาะเจาะจงสูง เช่น เชื้อแบคทีเรียกำจัดแมลงจะเป็นอันตรายกับแมลงเป้าหมายบางชนิดเท่านั้น
  ข้อด้อย   ให้ผลช้าไม่รวดเร็วเท่าเคมี กำจัดศัตรูพืชได้เฉพาะเจาะจงไม่หลากหลาย จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตจึงอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก เช่น แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น
จุลินทรีย์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้แก่
            1.เชื้อแบคทีเรีย บาซิลัสทูริงเจรซิส(BT) ใช้กำจัดหนอนพวกหนอนต่างๆ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก
            2.เชื้อรา ไตรโคเดอร์มา ป้องกันกำจัด โรครากเน่า โรคโคนเน่าผลเน่า โรคเหี่ยว โรคเน่าระดับดิน โรคกุ้งแห้ง
            3 เชื้อรา บิวเวอร์เรีย ป้องกันกำจัด เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง บั่ว หนอนห่อใบ เพลี้ยอ่อน ไรขาว แมลงหวี่ขาว แมลงค่อมทอง ไรแดง
            4. .เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทีลิส ( BS) ป้องกันกำจัดเชื้อรา และแบคทีเรียหลายชนิด เช่น โรคแอนแทรกโนส โรคใบจุด โรคใบติด โรคใบไหม้ โรคแคงเกอร์
            5.เชื้อรา เมทาไรเซียม ด้วงแรดมะพร้าว ด้วงหนวดยาว แมลงนุนหลวง แมลงดำหนามมะพร้าว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยต่างๆ หนอนห่อใบข้าว

ข้อเสนอแนะ การใช้จุลินทรีย์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัย แต่ด้วยข้อจำกัดด้านความจำเพาะจงเจาะศัตรูพืช การใช้ในการป้องกันหรือใช้เมื่อพบศัตรูพืชในระยะเริ่มต้น(ยังไม่ระบาด)ย่อมได้ผลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
ฮอร์โมนพืช       
            

        ฮอร์โมนพืช  เป็นสารเคมีภายในพืชซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญของพืชไม่เพียงแต่การเจริญของพืชทั้งต้นเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับการเจริญของพืชแต่ละส่วนด้วย     ในปัจจุบันทราบกันดีแล้วว่าฮอร์โมนพืชมีทั้งชนิดที่กระตุ้นการเจริญเติบโต และระงับการเจริญเติบโต   ฮอร์โมนพืชที่พบในปัจจุบันคือออกซิน (Auxin) จิบเบอเรลลิน (Gibberellins)  ไซโตไคนิน(Cytokinins) กรดแอบซิสิค (Abscisic Acid) หรือ ABA และ  เอทธิลีน (Ethylene) ซึ่งมีสภาพเป็นก๊าซ
        สารควบคุมการเจริญเติบโต (Plant Growth Regulator) เป็นสารเคมีที่สำคัญในการเกษตร  เป็นสารอินทรีย์ซึ่งมนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมาได้  ซึ่งบางชนิดมีคุณสมบัติเหมือนฮอร์โมนพืช มนุษย์รู้จักการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตมานานแล้ว      เช่น  กระตุ้นให้มะม่วงหรือสับปะรดออกดอกโดยการจุดไฟข้างสวน   เพื่อให้เกิดควันซึ่งมีเอทธิลีนปนอยู่    สามารถกระตุ้นให้เกิดการออกดอกได้ 
        โดยสารสกัดอินทรีย์ที่สกัดขึ้นมาอุดมไปด้วยธาตุอาหารและฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช จนได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bio-Active compound) ที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ 

คุณประโยชน์
        1.ช่วยเร่งการเจริญเติบโต ทำให้พืชโตเร็ว ต้นแข็งแรง
        2.เร่งการฟื้นตัวของพืชหลังการเก็บเกี่ยว
        3.ช่วยให้เกสรตัวผู้สมบูรณ์ ทะลายปาล์มใหญ่ ผลดก
ในประเทศไทยการใช้ฮอร์โมนพืชมีวัตถุประสงค์ในทางการเกษตรเพื่อให้มีผลผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ และเพื่อความสะดวกในการจัดการฟาร์ม

 

จุลินทรีย์ด้านอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
         

           ในปัจจุบันนิยมนำจุลินทรีย์มาช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด  โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปนเปื้อนของสารพิษเหล่านี้อยู่  ทั้งที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำและในดิน  เช่น  การนำจุลินทรีย์มาบำบัดสารมลพิษที่ย่อยสลายยาก  ทั้งที่เป็นสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์โดยจุลินทรีย์เหล่านี้  จะย่อยสลายสารมลพิษเหล่านี้ให้มีความเป็นพิษน้อยลงหรือย่อยจนสารพิษนั้นหมดไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นพิษของสารนั้นและชนิดของจุลินทรีย์ที่นำมาบำบัด

ตัวอย่างจุลินทรีย์ที่ใช้ในกำจัดของเสีย
           ในปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ มากมายก่อให้เกิดสารพิษตกค้างพวกโลหะหนักหรือสาร อินทรีย์ในสิ่งแวดล้อม จุลินทรีย์บางพวกสามารถย่อยสลายหรือทำให้สารพิษเสื่อมสภาพ  จึงมีการนำจุลินทรีย์มาย่อยสลายสารอินทรีย์ที่สะสมอยู่โดยเปลี่ยนเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีเทน  ที่นำไปใช้เป็นพลังงานได้ คราบน้ำมันในทะเลทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำขึ้นมาหายใจไม่ได้  มีแบคทีเรียหลายชนิดสามารถย่อยคราบน้ำมันหรือทำให้คราบน้ำมันแตกออกเป็นหยดเล็กๆจมลงสู่ก้นทะเลได้

Bacillus subtilis (BC557/1/1)
แบคทีเรียที่ผลิตเอนไซม์เซลลูเลส 
Lactobacillus fermentum (L 191)
แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้